ระยะหลังผมให้เวลากับการติดตามหุ้นไทยน้อยลงกว่าแต่ก่อน แล้วใช้เวลาส่วนนั้นไปศึกษาหาหุ้นต่างประเทศแทน แรกเริ่มเดิมทีเมื่อต้นปี 2558 ก็นำเงิน 1 ใน 3 ของพอร์ต ณ ขณะนั้นไปลงในตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม ผมไม่ได้เพิ่มเงินลงทุนในเวียดนามระหว่างทางเพราะคิดว่าสัดส่วนที่เป็นอยู่ก็มากพอสมควร ปัจจุบันพอร์ตหุ้นเวียดนามเติบโตเป็นที่น่าพอใจไว้ตอนสิ้นปีจะสรุปพอร์ตลงทุนอีกที
ตั้งแต่ต้นปี 2559 ผมก็เริ่มมองหาประเทศอื่นเพื่อลงทุนบ้าง จนมาถึงช่วงปลายเดือนกรกฎาคมก็ได้ศึกษาตลาดหุ้นออสเตรเลียมากขึ้น ทำไมจึงเป็นออสเตรเลีย? ก็ไม่มีเหตุผลอะไรมากครับผมเพียงแค่อยากทดลองลงทุนในตลาดหุ้นของประเทศพัฒนาแล้วบ้าง GDP เติบโตประมาณ 3% ที่ยังไม่เลือกตลาดอเมริกาก็เพราะรู้สึกว่าหุ้นอเมริกามันมีเยอะแยะมากมายเหลือเกินไม่รู้จะเริ่มต้นสแกนจากตรงไหนดีก็เท่านั้นครับ คงต้องใช้เวลาอีกสักพักค่อยเริ่มศึกษาหุ้นในอเมริกาบ้าง
ผมเริ่มสแกนหาหุ้นออสเตรเลียโดยใช้ P/E ROE แล้วก็การเติบโตย้อนหลังสำหรับการกรองเบื้องต้น เว็บไซต์หลักในการดูหุ้นก็เว็บนี้เลยครับ http://www.asx.com.au/ เป็นเว็บของตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ส่วนการกรองหุ้นผมใช้จาก http://www.morningstar.com.au/Tools/NewStockScreener เป็นเว็บของ Morningstar เฉพาะสำหรับตลาดหุ้นออสเตรเลีย แล้วใช้ข้อมูลงบการเงินย้อนหลังจาก http://finance.yahoo.com/ มาประกอบอีกที
หลังจากเลือกหุ้นได้แล้วก็เริ่มขั้นตอนการซื้อ ผมเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นต่างประเทศกับทางฟินันเซียไซรัสซึ่งใช้ซื้อขายหุ้นเวียดนามอยู่ก่อนแล้ว ครั้งแรกกับการซื้อหุ้นต่างประเทศที่ไม่ใช่เวียดนามทำเอางงไปเหมือนกัน จริงๆ ทางฟินันเซียไซรัสมีโปรแกรมสำหรับซื้อขายหุ้นให้บริการสำหรับต่างประเทศด้วยนะครับเราสามารถเทรดได้เองในหลายตลาด แต่ออสเตรเลียมีคนเทรดน้อยจึงต้องส่งคำสั่งซื้อผ่านมาร์เก็ตติ้ง
การซื้อผ่านมาร์เก็ตติ้งสำหรับผมก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาเพราะการซื้อหุ้นเวียดนามก็ต้องผ่านมาร์เก็ตติ้งเหมือนกัน แต่ปัญหาคือราคาที่เห็นไม่เรียลไทม์เป็นราคาที่ช้ากว่าเวลาจริงประมาณ 20 นาที (หุ้นเวียดนามเห็นราคาเรียลไทม์) หากอยากได้ราคาเรียลไทม์ก็ต้องจ่ายเงินซื้อเพิ่มเติม ดังนั้น bid และ offer ที่เราเห็นก็อาจไม่สามารถซื้อขายได้แล้ว หากอยากได้หุ้นก็ต้องตั้ง bid รอไว้ หรือตั้ง bid สูงกว่า offer ที่เห็นสักหน่อยถ้าโชคดีก็ได้หุ้นเลย ทีแรกผมเข้าใจนึกว่าราคาที่เห็นเมื่อเราซื้อแล้วมาร์เก็ตติ้งจะเห็นราคาเปลี่ยนแปลงทันทีจำได้ว่าวันนั้นมีหุ้นที่ต้องการตั้ง offer อยู่ 200 หุ้น ราคาประมาณ 4.20 AUD ผมก็บอกให้ซื้อเลยแล้วก็ได้หุ้นมา 200 หุ้นจริงๆ ถามมาร์เก็ตติ้งกลับไปทันทีว่าตอนนี้ offer เป็นเท่าไรกะว่าจะซื้อต่อได้ทันที มาร์เก็ตติ้งตอบกลับมาว่ายังเห็นเหมือนเดิมค่ะ !!! ก็ราคามันช้าไป 20 นาทีนี่นาเพิ่งซื้อไปตะกี้แล้วมันจะเปลียนได้ยังไง 555
เรื่องที่สองคือค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ ผมคุ้นเคยกับหุ้นเวียดนามที่ไม่มีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำแต่ตลาดออสเตรเลียมีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 20 AUD (ค่าธรรมเนียมปกติอยู่ที่ 0.33%) ด้วยความไม่เข้าใจของตัวผมเองอีกนั่นแหละจากเรื่อง 200 หุ้นด้านบน ผมเพิ่งมาเข้าใจเอาตอนหลังเพราะตอนบอกให้ซื้อ 200 หุ้นที่ราคา 4.20 AUD นั้น มาร์เก็ตติ้งทวนย้ำแบบแปลกใจว่าจะเอาจริงๆ เหรอผมก็ยืนยันว่าซื้อเขาก็ซื้อให้ จนมาถึงตอนคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเข้าใจคือผมคิดว่าค่าธรรมเนียมขั้นต่ำนั้นเป็นขั้นต่ำต่อวันเหมือนกับการซื้อหุ้นไทย ที่ไหนได้มันเป็นค่าธรรมเนียมขั้นต่ำต่อไม้ !!! (ค่าธรรมเนียมขั้นต่ำตลาดหุ้นต่างประเทศเป็นค่าธรรมเนียมต่อไม้ทุกตลาด) กลายเป็นหุ้นที่ได้มา 200 หุ้นล็อตนั้นเป็นหุ้นที่ซื้อแพงกว่าคนอื่นในวันนั้นพอสมควร ถือเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับการเริ่มต้น ทุกบทเรียนในตลาดหุ้นได้มาด้วยการเสียเงินเสมอ
ผมเลือกหุ้นในตลาดออสเตรเลียได้ 2 ตัว ด้วยสัดส่วนเงินไม่มากนักที่แบ่งออกจากพอร์ตหุ้นไทยในช่วงต้นเดือนสิงหาคม บังเอิญโชคดีมีหุ้นตัวนึงเพิ่งจะปิดงบประจำปีแล้วประกาศจ่ายปันผล การจ่ายปันผลของบริษัทนี้จ่ายเป็นเงินสดครับก็ดูธรรมดาทั่วไป แต่ที่แตกต่างคือบริษัทมีโครงการ Reinvestment แนบมาด้วย ในฐานะผู้ถือหุ้นเราสามารถเลือกที่จะรับเป็นเงินสดก็ได้ หรือให้นำเงินปันผลที่จะได้รับกลับไปซื้อหุ้นอีกก็ได้ โดยบริษัทจะให้ส่วนลดประมาณ 5% ของราคาปิดเฉลี่ย 5 วันหลังจากขึ้นเครื่องหมาย XD
แน่นอนผมเลือก Reinvestment ครับ เพราะเงินปันผลที่ได้มาไม่มากพอที่จะนำไปซื้อหุ้นแล้วคุ้มค่าธรรมเนียม 555 อีกอย่างก็คิดจะลงทุนยาวๆ อยู่แล้วเลยไม่มีปัญหา ผมว่าโครงการแบบนี้น่าสนใจมากครับ วันที่ขึ้นเครื่องหมาย XD ราคาหุ้นก็ไม่ตก ไม่มีการ Dilute เพราะไม่ได้ออกหุ้นใหม่เหมือนหุ้นปันผล เท่าที่ตามดูหลังจากประกาศผลสิ้นสุดโครงการพบว่าผู้บริหารหลายคนของบริษัทก็เข้าโครงการนี้เรียกว่าได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย อยากให้หุ้นไทยมีโครงการแบบนี้บ้างจัง
บทความที่เกี่ยวข้องกัน
น้ำทุเรียนนมสด All Cafe
ROBINS OppDay 2Q2016
No comments:
Post a Comment